===Not Click=== ===Not Click===

พระผงสุพรรณหน้าหนุ่ม


ถ้าจะเริ่มต้นศึกษาพระเครื่อง ด้วยการได้ดูพระ "องค์ครู" สักองค์ พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าหนุ่มองค์นี้ เป็นพระแท้ ดูง่าย ใช้เป็นองค์ครูได้ ทั้งด้านพิมพ์ทรง และเนื้อหา

พระผงสุพรรณ มีด้วยกันสามพิมพ์ พิมพ์หน้าแก่ พิมพ์หน้ากลาง และพิมพ์ที่นักเลงพระสุพรรณ รุ่นเก่าเรียก หน้านาง หรือหน้าหนู แต่วงการเรียกให้เข้าชุดกันว่า พิมพ์หน้าหนุ่ม

ทั้งสามพิมพ์ศิลปะอู่ทองยุคปลาย แต่เมื่อดูให้ลึกซึ้งขึ้นไป พิมพ์หน้าแก่นั้น...มีข้อระบุแยกจากสองพิมพ์ได้ชัดเจน เทียบหน้า ก็ "หน้าแก่" กว่าจริงๆ ผิวพื้นผนังองค์พระ ก็เหี่ยวย่นกว่า ส่วนที่เป็น "ตำหนิ" พิมพ์ ก็มีมากกว่า

เช่น มุมเฉียงติดอกด้านซ้าย มีเหมือนเม็ดลูกประคำ เรียงราย 3-4 เม็ดเป็นแนวตรงขนานกับเต้านม ตำหนินี้ติดชัดเกือบทุกองค์ ปลายพระกรรณขวา ด้านนอก มีเส้นตรงพุ่งเฉียงเหมือนเงี่ยง ด้านในกลางระหว่างซอกหูขวา หลายองค์มีตำหนิที่ติดชัด เหมือนขอสับหน้าต่างบ้าน

กลางซอกหูซ้าย เกรอะกรังทั้งเป็นเส้นเป็นเม็ด ไม่ชัดเจน เป็นรูปอะไรแน่ จุดนี้ไม่ต้องจำก็ได้

แต่ตำหนิ ที่ติดลึกในพื้นผนัง ในองค์ที่กดแม่พิมพ์ลึก...เป็นเส้นตรงเหมือนเส้นน้ำตกหลายเส้น เริ่มจากต้นคอ ทิ้งระดับลงมา ผ่านช่วงอก ทะลุลงพื้นผนังด้านซ้าย เส้นที่ติดชัดกว่า จะดิ่งลงมาถึงข้อมือ

ผนังขวา ก็ปรากฏเส้นตรงสองสามเส้น เช่นกัน

พิมพ์หน้าแก่ ยังมีตำหนิพิมพ์ ที่ปรากฏตรงจุดเดียวกัน อีกหลายจุด ดูภาพพระแท้ให้มาก ใครจำได้มากกว่า โอกาสได้พระผงสุพรรณแท้ในราคา ที่คนจนๆพอซื้อ...ยังมี

พิมพ์หน้ากลาง (หนังสือพระผงสุพรรณ ชมรมพระเครื่องเมืองพุทธบาท พิมพ์ พ.ศ.2543) ราม วัชรประดิษฐ์ ชี้ให้สังเกตสองจุด จุดแรก ปลายพระหัตถ์ซ้าย ยาวไปจนเกือบขนแขนขวา ยาวกว่าหน้าแก่หน้าหนุ่ม และใกล้ๆกัน เส้นตรงเนื้อเกินจากโคนนิ้วขวา

เหตุที่ต้องอธิบายไปถึงตำหนิหน้าแก่หน้ากลาง ก็เพราะพิมพ์หน้าหนุ่ม...เป็นพระผงสุพรรณพิมพ์เดียว ที่หาตำหนิ ชัดๆ ตรงกัน ไม่ได้เลยสักแห่งเดียว

หลักการดู จึงต้องใช้ "องค์รวม" ธรรมชาติพื้นผนัง ที่เป็นรอยหดตัว มองดูเหมือนรอยย่นของผิวหนัง กระจายไปทั่วองค์พระ รอยหดเหี่ยวที่ว่า ให้ดูจากเนื้อแท้ คนละเรื่องดินนวล หรือคราบกรุ ที่ปกคลุมผิวองค์พระ

รอยเหี่ยวย่นนี้ เกิดจากการเผา (ทฤษฎี คุณมนัส โอภากุล ว่า ไม่เผา) และอยู่ในกรุยาวนาน ผิวดินบริเวณนี้รับความร้อนมากกว่าส่วนอื่น จึงหดตัวก่อนและกระจายเป็นริ้วคลื่นเล็กๆ มากกว่าส่วนองค์พระ

ริ้วรอยธรรมชาติในพื้นผนัง กลมกลืนไปกับเนื้อหา ละเอียดแน่น ผ่านการเผาด้วยความร้อนจากเตาเผา แบบเผาเครื่องกระเบื้อง ไปกันได้เส้นสายลายพิมพ์

พลิกด้านหลัง ผงสุพรรณหน้าหนุ่มองค์นี้ หลังลายมือ พระมหาเถรปิยทัสสี ศรีสารีบุตร จากจารึกลานทอง ที่พบในกรุ ทั้งเป็นลายมือมาตรฐาน กดครั้งเดียว เห็นลายก้นหอย กับเนินเรียบ ชัดเจน

ดูด้านข้างอีกสักหน่อย พระผงสุพรรณ อายุเฉลี่ยที่ 600 ปี ตัดด้วยไม้ไผ่ฝานให้มีคม จะมีรอยตอกตัดบ้างหรือไม่มีก็ได้ สำคัญที่จะมีรอยบุ๋มเว้าตรงกลาง

เมื่อทุกอย่าง เข้าหลัก เนื้อใช่ พิมพ์ใช่ ธรรมชาติเป็นตัวช่วยเสริม...ก็ใช้เป็น "องค์ครู" เทียบเคียงพิมพ์หน้าหนุ่มองค์อื่นๆ

ถ้าเทียบเคียง จนแยกแยะได้ ไม่ใช่ พิมพ์หน้าแก่ หรือหน้ากลาง ถือว่าก้าวหน้าในวิชาดูพระผงสุพรรณอีกก้าวหนึ่ง ส่วนการดูพระแท้ แยกให้ขาดจากพระเก๊นั้น เป็นก้าวต่อไปที่ยากกว่า

หากต้องซื้อราคาเต็มๆ หลักประกันจากขบวนการเซียนสำนักมาตรฐานนั้น ยังพอใช้ได้ ถ้าไม่ไปเจอขบวนการเซียนปลอม ซึ่งตอนนี้อุปโลกน์กันเกลื่อนเมือง

Cr. พลายชุมพล
อ่านข่าวต่อได้ที่: https://www.thairath.co.th/content/1098442#cxrecs_s