===Not Click=== ===Not Click===

พระผงสุพรรณ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี


หนึ่งในพระเบญจภาคี ที่หายากแถมปลอมเยอะมาก คือพระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าแก่ ซึ่งเป็นพิมพ์ที่นิยมสุดและแพงที่สุด องค์ที่นำมาให้ชมเพื่อเป็นแนวทางสะสมนี้ เนื้อหาจัดจ้านดูง่ายเพราะผ่านการสัมผัสจากเหงื่อทำให้ผิวพระเปิดดูหนึกนุ่ม เป็นจุดพิจารณาง่ายขึ้น ขอขอบคุณเจ้าของพระที่แบ่งปันมาให้ชมคือคุณชวการ อัศวะมหาศักดา ครับ

พระผงสุพรรณแตกกรุ เมื่อปี พ.ศ. 2456  โดยคนจีนเข้าไปทำสวนผักในบริเวณวัดซึ่งถูกทิ้งให้รกร้าง แล้วก็แอบขุดพระปรางค์ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ได้พบแก้วแหวนเงินทอง จึงขโมยออกมา แล้วหนีไปเมืองจีน ต่อมาได้มีชาวบ้านที่ทราบข่าว ลงไปในกรุอีก เจ้าเมืองสุพรรณในขณะนั้นจึงให้มีการเปิดกรุอย่างเป็นทางการ ได้พบแผ่นลานเงิน แผ่นลานทอง ซึ่งได้บันทึกประวัติการสร้างพระและการสร้างวัดเป็นไว้หลักฐาน

นอกจากนี้ยังพบพระบูชาและพระเครื่องมากมายหนึ่งในนั้นคือ  พระผงสุพรรณซึ่งเป็นเนื้อดินเผา มีหลายสี เช่น สีแดง สีเขียว สีดำ เป็นต้น ซึ่งมีอยู่ 3 พิมพ์ คือ  พิมพ์หน้าแก่ ,พิมพ์หน้ากลาง ,พิมพ์หน้าหนุ่ม และนอกจากนี้ยังมีพิมพ์พระผงสุพรรณซึ่งเป็นโลหะเนื้อชินสันนิษฐานว่าสร้างจากแร่สังฆวานร(ตามบันทึกในใบลาน)เรียกว่าพระสุพรรณยอดโถ


ตามจารึกลานทองที่กรมศิลปากรแปลออกมาได้กล่าวถึงการสร้างว่า  “ศุภมัสดุ 1265  สิทธิการิยะ แสดงบอกไว้ให้รู้ว่าฤาษีทั้งสี่ตนพระฤาษีพิมพิลาไลย์เป็นประธาน  เราจะทำด้วยฤทธิ์ทำด้วยเครื่องประดิษฐ์ มีสุวรรณเป็นต้น คือ บรมกษัตริย์พระยาศรีธรรมโศกราช  เป็นผู้มีศรัทธา พระฤาษีทั้งสี่ตนจึงพร้อมกันนำเอาแต่ว่านทั้งหลาย  พระฤาษีจึงอัญเชิญเทวดามาช่วยกันทำพิธีเป็นพระพิมพ์ไว้สถานหนึ่งแดง  สถานหนึ่งดำ  ให้เอาว่านทำเป็นผงก้อน พิมพ์ด้วยลายมือของมหาเถระปิยะทัสสะสี  ศรีสารีบุตร คือ เป็นใหญ่เป็นประธานในที่นั้น  ได้เอาแร่ต่าง ๆ มีอานุภาพต่างกัน  เสกด้วยมนต์คาถาครบ  3  เดือน แล้วท่านให้เอาไปประดิษฐ์ไว้ในสถูปแห่งหนึ่งที่เมืองพันทูม

นักโบราณคดีได้แปลความหมายของจารึกลานทองว่า พระผงสุพรรณมีสร้างจากมวลสาร  2  ชนิด คือ พระเนื้อดินเผาที่ผสมจากว่านและเกสรต่าง ๆ  และอีกชนิดคือ  พระผงสุพรรณที่ทำจากแร่ตามจารึกว่า “ได้เอาแร่ต่าง ๆ มีอานุภาพต่างกัน ถ้าผู้ใดพบพระทำด้วยแร่สังฆวานรก็ดี”  ซึ่งน่าจะเป็นพระผงสุพรรณเนื้อชินหรือพระสุพรรณยอดโถ

จุดพิจารณาของพระผงสุพรรณนั้น เนื้อดินของพระผงสุพรรณเป็นเนื้อดินค่อนข้างละเอียด  แต่ไม่ละเอียดเท่าพระรอดกรุวัดมหาวัน  เนื่องจากดินแต่ละแห่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนกัน  และนำน้ำว่านมาผสมเข้ากับมวลสารเกสรร้อยแปด เหตุเพราะสันนิษฐานจากพระผงสุพรรณนั้น หากโดนเหงื่อผิวองค์พระจะหนึกนุ่มขึ้นเงาหรือที่เรียกว่าแก่ว่าน นั่นเอง


นอกจากนี้ มีจุดพิจารณาสำหรับพระผงสุพรรณ  พิมพ์หน้าแก่เพิ่มเติมดังนี้-พื้นผิวขององค์พระจะเป็นเม็ดผดคล้ายผิวมะระ เป็นคลื่นตะปุ่มตะป่ำไม่เสมอกัน อันเนื่องจากการหดตัวของพระเนื้อดินโดยธรรมชาติ

-ช่วงใต้พระอุระซีกซ้าย จะมีเม็ดผดเรียงกันลงมา 3 เม็ด
-พระเนตรด้านซ้ายขององค์พระยาวรีลึก  ปลายพระเนตรตวัดขึ้นสูงกว่าพระเนตรด้านขวา
- พระนาสิกหนาใหญ่  ทั้งสองข้างมีร่องลึกลงมารับพระโอษฐ์ ซึ่งแย้มเล็กน้อย
- พระกรรณขวาขององค์พระจะขมวดคล้ายมุ่นมวยผม  ไรพระศกทอดยาวลงมามากกว่าพระกรรณด้านซ้าย
- เกือบบนสุดของพระกรรณขวามีร่องลึก เหมือนร่องหู และพระกรรณด้านบนเหนือร่องจะหนาใหญ่และโค้งคล้ายใบหูมนุษย์
- ด้านในของพระกรรณซ้ายจะมีเม็ดผดคล้ายเมล็ดข้าวสารวางสลับไปสลับมาเรื่อยมาถึงปลายพระกรรณ
- พระอุระใหญ่ก่อนจะคอดกิ่วมาทางพระนาภีมองไปคล้ายหัวช้าง
- ระหว่างพระอุระกับพระอังสะซ้ายขององค์พระเว้าลึกปรากฏเป็นรอยสามเหลี่ยม
- มีเส้นบาง ๆ ลากผ่านเหนือพระอังสะซ้าย ไปจรดขอบนอกพระอุระด้านซ้ายปลายเส้นปรากฏเม็ดผดเล็ก ๆ ขึ้นเรียงรายได้ราวนมซ้าย 3 เม็ด


- พระหัตถ์ซ้ายหนาใหญ่อยู่กึ่งกลางลำพระองค์  ปลายพระหัตถ์ไม่จรดพระกรขวา  เหมือนกับพิมพ์หน้ากลาง  และมองเห็นร่องพระหัตถ์ชัดเจน

- ข้อพระกรขวาขององค์พระด้านในเว้าลึก
-พระหัตถ์ขวาจะมองเหมือนกุมไว้ ไม่แบออก

-ด้านหลังองค์พระจะมีลอยลายนิ้วมือปรากฏจะเป็นลายนิ้วมือ หัวแม่โป้งแบบก้นหอยขนาดใหญ่  ซึ่งเป็น   ลักษณะนิ้วมือของคนโบราณ

จากกันด้วยธรรมะจากหลวงพ่อสนอง กตปุญโญ  “เราทำบุญกับใคร... ให้ลืม ใครทำบุญกับเรา... ให้จำ

Cr. : นายกองตรีอ้วน songphakan@gmail.com