===Not Click=== ===Not Click===

ลักษณะโดยสังเขป พระผงสุพรรณ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี


ลักษณะโดยสังเขป

พระผงสุพรรณ เป็นพระเนื้อดินเผา ผสมน้ำว่าน มีด้วยกัน 3 สีคือ เขียว แดง ดำ มีลักษณะ 3 เหลี่ยม ตัดยอดปลายกลายเป็นรูป 5 เหลี่ยม มีขนาดเท่าปลายนิ้วโดยประมาณ ส่วนที่โดดเด่นในองค์พระคือพระอุระ จะนูนออกมา และมีลักษณะของพิมพ์ที่แตกต่างกันคือ


  • พิมพ์หน้าแก่ ใบหูขวาจะยาวกว่าใบหูซ้าย แขนซ้ายจะเล็กและลางเลือนกว่าแขนขวา
  • พิมพ์หน้ากลาง ใบหูซ้ายจะยาวกว่าใบหูขวา แขนซ้ายและแขนขวาจะเรียวเล็ก และติดชิดเสมอกัน
  • พิมพ์หน้าหนุ่ม องค์พระจะสอบเล็ก ลึกและคมชัด แขนทั้ง 2 ข้างอวบและล่ำสัน


ส่วนด้านหลังค่อนข้างจะมีเอกลักษ์เฉพาะ คือมีลายนิ้วมือเพียงรอยเดียวจากการกดพิมพ์ มีทั้งลายก้นหอยและมัดหวาย แต่ข้อควรจำของลายมือ คือลายมือลางเลือน ไม่ชัดเจน


วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือที่ชาวสุพรรณเรียกสั้นๆ ว่า วัดพระธาตุ เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองสุพรรณ สมัยอู่ทองและอยุธยา ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี มีองค์พระปรางค์สูงตระหง่าน ส่วนใครเป็นผู้สร้างวัดนั้น นักประวัติศาสตร์ไม่กล้ายืนยัน เพียงแต่สันนิษฐานว่า น่าจะสร้างใน สมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) หรือสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

แม้ว่าไม่ปรากฏหลักฐานผู้สร้างที่ชัดเจน แต่มีหลักฐาน ที่สำคัญต่อ การศึกษาของวงการพระเครื่อง พระบูชา คือ ลานทอง ๓ แผ่น ซึ่งเป็นการจารึกประวัติศาสตร์ของการสร้างวัด สร้างพระเครื่องและพระบูชา โดยเฉพาะแผ่นที่ ๒ ซึ่ง สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงแปลไว้ว่า

"ศุภมัสดุ ๑๒๖๕ สิทธิการิยะ แสดงบอกไว้ให้รู้ว่า ฤาษีทั้งสี่ตน พระฤาษีพิมพิลาไลย์เป็นประธาน เราจะทำด้วยฤทธิ์ ทำด้วยเครื่องประดิษฐ์ มีสุวรรณ เป็นต้น คือบรมกษัตริย์พระยาศรีธรรมโศกราชเป็นผู้ศรัทธา พระฤาษีทั้งสี่ตน จึงพร้อมกันนำเอาแด่ว่านทั้งหลาย พระฤาษีจึงอัญเชิญเทวดามาช่วยกัน ทำพิธีเป็นพระพิมพ์ไว้สถานหนึ่งแดง สถานหนึ่งดำ ให้เอาว่านทำเป็นผงก้อน พิมพ์ด้วยลายมือของมหาเถระปิยะทัสสะสี ศรีสาริบุตร คือ เป็นใหญ่ เป็นประธานในที่นั้น ได้เอาแร่ต่างๆ มีอานุภาพต่างกัน เสกด้วยมนต์คาถาครบ ๓ เดือน แล้วท่านให้เอาไป ประดิษฐ์ไว้ในสถูปแห่งหนึ่งที่เมืองพันทูม (สุพรรณบุรี)


ถ้าผู้ใดพบเห็นให้รีบเอาไปไว้สักการบูชา เป็นของวิเศษ แม้จะมีอันตรายประการใดก็ดี ให้อาราธนาผูกไว้ที่คอ อาจคุ้มครอง ภยันตรายได้ทั้งปวง ถ้าผู้ใดจะออกรณรงค์สงคราม ประสิทธิ์ด้วยศัสตรา อาวุธทั้งปวง เอาพระลงสรงน้ำมันหอม แล้วนั่งบริกรรมพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ๑๐๘ จบ พาหุง ๑๓ จบ ใส่ขันสัมฤทธิ์นั่งอธิษฐาน เอาความปรารถนาเถิด ให้ทาทั้งหน้าและผม คอ หน้าอก

ถ้าจะใช้ในทางเมตตา ให้มีสง่าเจรจาให้คน ทั้งหลายเชื่อฟัง ยำเกรงให้เอาพระไว้ในน้ำมันหอมเสก ด้วยคาถานวหรคุณ ๑๓ จบ พาหุง ๑๓ จบ พระพุทธคุณ ๑๓ จบ ให้เอาดอกไม้ธูปเทียนทำพิธีในวันเสาร์ น้ำมันหอมเก็บไว้ใช้ได้เสมอ ทาริมฝีปากหน้าผากและผม ถ้าผู้ใดพบพระตามที่กล่าวมานี้ พระว่านก็ดี พระเกษรก็ดี ทำด้วยแร่ สังฆวานรก็ดี อย่าประมาทเลย


อานุภาพพระทั้ง ๓ อย่างนี้ ดุจกำแพงแก้วกันอันตรายทั้งปวง แล้วให้ว่าคาถา ทเยสันตาจนจบ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ จนจบ พาหุงไปจนจบ แล้วให้ว่าดังนี้อีก กะเตสิกเก กะระณังมหาไชยังมังคะ สังนะมะพะทะ แล้วให้ว่า กิริมิติ กุรุมุธุ เกเรเมเถ กะระมะทะ ประสิทธิแล"

พระผงสุพรรณ ที่พบมีด้วยกัน ๓ พิมพ์ และมีเนื้อสี่สี มี พิมพ์หน้าแก่ พิมพ์หน้าหนุ่ม และ พิมพ์หน้ากลาง

คนสุพรรณสมัยก่อนเรียก พระผงเกษรสุพรรณ เดิมทีนั้น จะเรียกพิมพ์ทั้ง ๓ ว่า หน้าแก่ หน้าหนุ่ม และหน้าหนู (หรือหน้านาง)

นอกจากนี้แล้วนักเลงพระรุ่นเก่ายังเรียก พระผงสุพรรณว่า "หน้าแพะ อกหัวช้าง" โดยได้พิจารณาเปรียบเทียบพุทธลักษณะขององค์พระ คือ ดวงพระเนตร พระนาสิก และพระโอษฐ์ ตลอดจนพระกรรณ มีความใกล้เคียงกับแพะอย่างยิ่ง ส่วนพระอุระ (หน้าอก) คล้ายกับหัวช้าง


พระผงสุพรรณมีส่วนผสมของมวลสารวิเศษ ๓ ชนิด คือ ว่าน มีอิทธิฤทธิ์ประโยชน์ในทางด้านคงกระพัน เกสรดอกไม้ เป็นของหอม ย่อมก่อให้เกิดเสน่หานิยม ดินเหนียว เป็นสิ่งที่ไม่สลายไปจากโลก แต่ในทางตรงกันข้ามทุกสิ่งที่สลายจะกลายเป็นดินหมด

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้พระผงสุพรรณทั้งสามพิมพ์ มีสีแตกต่างกัน คือ ส่วนผสมของผงเกสร และว่าน ไม่เท่ากัน ถ้าผสมมากเนื้อพระจะออกนุ่ม แต่ถ้ามีส่วนผสม ของดินเหนียวมาก เนื้อพระจะแสดงออกถึง ความแกร่ง ซึ่งตามจารึกของลานทองมีเพียง ๒ สี คือ "สถานหนึ่งดำ สถานหนึ่งแดง" แต่ปัจจุบันนี้มีถึง ๔ สี คือ ดำ แดง เขียว และขาว

สีขาวและสีเขียวเป็นสีนิยมมากที่สุด รองลงมาคือสีแดง ส่วนสีดำเป็นอันดับสุดท้าย ส่วนเหตุผลที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับสุดท้ายน่าจะมากจาก สีดำทำปลอมได้ง่ายกว่าสีอื่น จึงทำให้เซียนพระไม่กล้าเก็บไว้

สำหรับหลักการพิจารณาพระผงสุพรรณนั้น นอกจากมวลสารแล้ว พุทธลักษณะสำคัญที่ใช้พิจารณาประกอบด้วย รอยเหี่ยวย่น รอยตอกตัด ผนังของลายมือ คราบกรุ เม็ดทราย ว่านดอกมะขาม และสี

Cr. หนังสือเบญจภาคี สำนักพิมพ์คเณศ์พร