===Not Click=== ===Not Click===

พระผงสุพรรณยอดโถ


ต้องทำความเข้าใจกันก่อน พระผงสุพรรณ เนื้อชิน...ซึ่งวงการเรียกชื่อตามสถานที่ที่พบ คือบนยอดพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรีว่า ผงสุพรรณ ยอดโถ...นั้นมีเพียงแต่มีน้อย

จารึกในลานทอง ตอนหนึ่ง นอกจากมีพระพิมพ์ที่ทำจากดินและว่าน ยังได้นำ"แร่ต่างๆมีอานุภาพต่างกัน ถ้าผู้ใดพบพระตามที่กล่าวมานี้

พระว่านก็ดี พระเกสรก็ดี ทำด้วยแร่สังฆวานรก็ดี อย่าประมาทเลย อานุภาพพระทั้ง 3 อย่างนี้ ดุจกำแพงแก้ว กันอันตรายทั้งปวง"

วิธีการเรียนรู้ เพื่อเข้าถึงพระแท้...นั้น ควรมีพระองค์หนึ่ง ตั้งเป็นสมมติฐาน...อย่างพระผงสุพรรณยอดโถ องค์ในคอลัมน์วันนี้...สิ่งที่เห็นชัดเจน เป็นเนื้อชิน

ส่วนนูนที่ถูกสัมผัส ออกดำบอกประกาย "ชินเงิน" ส่วนที่อยู่ในซอกลึก พื้นผนัง คราบกรุเหลืองนวลปกคลุม ตามธรรมชาติ ไม่ขัดตา

เอาไปเทียบกับ สามองค์ในหนังสือพระผงสุพรรณ ทีมงานพระเครื่องเมืองพุทธบาท จัดพิมพ์เมื่อปี 2544

"วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิมพ์พระผงสุพรรณย้อนยุคเนื้อดิน สัมฤทธิ์ และทองคำ"

หนังสือเล่มนี้ รวมภาพพระผงสุพรรณแท้...ทุกองค์ที่ผ่านวงการ พิมพ์หน้าแก่ องค์หนึ่งนั้น ตอนที่เคยเป็นของผม...ถูกสวดเก๊แท้อยู่หลายปี มาแท้เอาเมื่อเพื่อนยืม (ไม่คืน) เอาไปขายให้เซียน

หนังสือเล่มนี้ มีภาพผงสุพรรณยอดโถเนื้อชินเงิน 3 องค์ ทุกองค์ เป็นองค์ครูให้คนรักพระรุ่นใหม่ ได้ "นับหนึ่ง"

ข้อแรกที่เป็นปุจฉา...พระผงสุพรรณเนื้อดิน มีสามพิมพ์ เดิมทีนักเลงพระสุพรรณ เรียกกันว่า พิมพ์หน้าแก่ พิมพ์หน้าหนุ่ม พิมพ์หน้านางหรือพิมพ์หน้าหนู (มนัส โอภากุล)

แต่นักเลงพระเมืองกรุง เรียกกันถึงวันนี้ พิมพ์หน้าแก่ พิมพ์หน้ากลาง และพิมพ์หน้าหนุ่ม

เท่าที่ผ่านตา พระผงสุพรรณยอดโถ ไม่เกินสิบองค์ พอเข้าใจได้ว่า เนื้อโลหะที่ผ่านความร้อนหลอมละลาย ในแม่พิมพ์เดียวกับเนื้อดิน...เมื่อเนื้อโลหะเย็นลง ยุบลง

เส้นสายลายพิมพ์ จึงไม่ติดชัดเจนพอ จะให้แยก เป็นพิมพ์ไหน

หลักแยกแม่พิมพ์ผงสุพรรณ ไม่ยากนัก พิมพ์หน้าแก่ มีตำหนิพิมพ์ หลายแห่ง...ในซอกแขนข้างราวนมซ้าย มีเม็ดกลมเหมือนลูกประคำ 3-4 เม็ด เรียงเป็นแนวดิ่ง

ร่องหูขวา...องค์ติดชัด เนื้อเกินรูปตะขอบานพับหน้าต่าง...ร่องหูซ้าย...ติดเกรอะกรัง รูปแบบไม่ลงตัว ตำหนิที่แผ่วเบา...สำหรับตัดสินพระแท้ คือ เสี้ยนผนังพิมพ์ เหมือนเสี้ยนไม้ เป็นเส้นตรง เริ่มจากใต้ซอกพระศอ ผ่านพระอุระ ทะลุมาเชื่อมพระกร...

พิมพ์หน้าแก่ ยังมีอีกหลายตำหนิ เมื่อรวมตำหนิพิมพ์หน้ากลางหน้าหนุ่ม แทบไม่มีติดในพระผงสุพรรณยอดโถเนื้อชินเลย

เปลี่ยนมาหาวิธี เทียบฟอร์มพระ... พระกรรณสองข้าง พระกรรณขวายาวกว่าพระกรรณซ้าย กับ ช่วงหักศอกพระกรซ้าย ไล่ระดับตั้งฉากกับช่วงหักพระกรขวา (ดูยากสักหน่อย)

จึงพอจะตัดสินได้ ผงสุพรรณยอดโถ องค์ในคอลัมน์วันนี้ เป็น "พิมพ์หน้าแก่"

ผมเคยเห็น...จากเพื่อนคนหนึ่ง ไม่ใช่เนื้อชินเงิน แต่เป็นเนื้อตะกั่วสนิมแดง...เป็นพระแท้แน่นอน ถ้ายึดหลักจารึกลานทอง ก็โยงเข้าเนื้อ "สังฆวานร" ได้

ผงสุพรรณยอดโถจำนวนน้อยกว่า ผงสุพรรณเนื้อดิน...แม้อัตราส่วนพระปลอม (ฝีมือยังไกล) ต่ำ ไม่มีพระมาประกวดแข่งกัน ราคาจึงไม่สูงเกินไปสักเท่าไหร่ คุยกับเซียนเอาเอง.

Cr.พลายชุมพล
อ่านข่าวต่อได้ที่: https://www.thairath.co.th/content/982487