===Not Click=== ===Not Click===

พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้ากลาง


กว่าจะตัดสิน พระผงสุพรรณองค์นี้ เป็น "พิมพ์หน้ากลาง" ได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เริ่มต้นด้วยทฤษฎี ปลายพระหัตถ์ซ้าย ต้องยื่นยาวกว่าพิมพ์หน้าแก่ พิมพ์หน้าหนุ่ม ไปจดข้อพระหัตถ์ขวา...ก็ไม่ใช่เสียแล้ว

หลายปีเต็มทีได้ยินคำว่า "พระหน้าใหญ่" นักเล่นหมายถึง พระยอดนิยมทุกองค์ ที่มีราคาขึ้นหลักล้าน พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว เมืองชล หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน พระกริ่ง ฯลฯ ก็เข้าข่าย ไม่ได้มีแต่พระชุดเบญจภาคีอย่างเดียว

ธรรมดาของพระ "หน้าใหญ่" ราคาในวงการขึ้นหลักล้าน แรงกดดันก็ตามมา ด้วยพระปลอมสารพัดฝีมือ "เซียน" ที่เคร่งครัดใน "เส้นขาย" ที่จริงก็คือตำหนิพิมพ์ ถ้าไม่มี เซียนจึงมักเมินหน้า

พระผงสุพรรณเนื้อดำองค์นี้ คนเป็นพระคุ้นตาภาพรวมๆ ทั้งเนื้อพระ พิมพ์พระ แทบไม่ต้องส่องแว่น เนื้อพระ ผิวฝ้า รารัก มีน้ำหนักเป็นด่างเป็นดวง รอยเหนอะ ปุ่มปม กระทั่งรอยลายมือด้านหลัง

แต่หลักพระแท้เนื้อพระเก่า ธรรมชาติสมอายุ...ยังไม่พอ หากตำหนิพิมพ์ที่วงการยืด...ขาดไปจุดใดจุดหนึ่ง

ตำหนิพิมพ์ ผงสุพรรณพิมพ์หน้ากลาง ในหนังสือภาพพระผงสุพรรณเล่ม คุณราม วัชรประดิษฐ์ เป็นบก. ...ชี้ไว้ ผมเทียบเคียงแล้ว ไม่เด็ดขาดชัดเจน (เหมือนพิมพ์หน้าแก่)

ที่บอกว่า พื้นผนังพระด้านนอก ใกล้หัวไหล่ขวา ...มีปุ่มปมเล็กสองสามสี่ปุ่ม นั้น...ก็ไม่แน่นอนนัก

พิมพ์หน้ากลางแท้ หลายองค์ ไม่มีตำหนินี้

อีกตำหนิโคนข้อมือขวาด้านใน มีเนื้อเกินพุ่งขึ้นไปเป็นเส้นตรง...หลายองค์มี แต่หลายองค์ก็ไม่มี

มาถึงตำหนิสำคัญนิ้วซ้าย ที่ว่ายาวจดข้อแขนขวา...

ที่จริง จุดที่เห็นว่ายาวกว่านั้น เป็น "ปื้น" เนื้อเกิน ผงสุพรรณหน้ากลางหลายองค์ สภาพสวยที่วงการยอมรับ...ก็ไม่มีเหมือนกัน

ข้อพิจารณาตำหนิพิมพ์ ที่มีเหตุผล ก็คือ พระที่กดพิมพ์ลึก ติดทุกเส้นสาย น้ำหนักเท่าๆกัน ก็อาจใช้ทฤษฎีทุกตำหนิ เหมือนตำหนิพิมพ์เหรียญได้...

ผงสุพรรณหน้าแก่ องค์ที่ชัดที่สุด เส้นเสี้ยนเริ่มจากช่องพระศอ พาดส่วนบ่าส่วนไหล่ เหมือนน้ำไหล ผ่านพื้นผนังทั้งซ้ายขวา...พิมพ์หน้าแก่สภาพที่ว่านี้ เซียนใหญ่เคยชี้ตำหนิให้ดูเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว

ถึงวันนี้ ในหนังสือภาพพระผงสุพรรณ เล่มที่รวมพระแท้ไว้มากที่สุด ก็ยังเห็นเด่นอยู่องค์เดียว นอกนั้น ติดหนักเบามากน้อย ไปถึงขั้น แทบไม่ติดเลย

หลักคิดของผมมีว่า ติดบ้างไม่ติดบ้าง ดูเป็นธรรมชาติดีกว่า

องค์ที่ติดชัดทุกตำหนิพิมพ์ เหมือนของปลอมที่ตั้งใจจนเกินไป

แต่องค์ที่ไม่มีตำหนิพิมพ์เลย เกือบทั้งหมดเป็นของปลอมฝีมือเก่า เนื้อพระพอไหว แต่ตำหนิพิมพ์ไม่มี

เมื่อปลายนิ้วซ้ายสั้น จะว่าเป็นพิมพ์หน้าหนุ่ม ก็ไม่ได้ เพราะเส้นสายโดยเฉพาะพระกรองค์พระพิมพ์หน้ากลาง เล็กเรียวบาง ต่าง จากพิมพ์หน้าหนุ่ม ที่ติดลึกดูล่ำสัน...ชัดเจน

ใช้หลักธรรมชาติเช่นนี้ ผงสุพรรณองค์นี้ ยังพอมีตำหนิ ปุ่มปมเล็กๆ เรียงรายไม่มีระเบียบนัก อยู่ที่พื้นผนังขอบนอกบริเวณหัวไหล่ขวา จึงพอชี้เข้าพวกได้ว่า เป็นพิมพ์หน้ากลาง

ผ่านเรื่องพิมพ์ ย้อนไปถึงเรื่องเนื้อ ผิวฝ้ารารัก ขอย้ำอีกที พระองค์นี้เป็นพระเนื้อดำ สภาพเดิมๆ สึกช้ำแต่พองาม เงาสว่างให้ประกายความซึ้งตา ดึงดูดใจกว่าที่เคยเห็นในหลายองค์

รอยลายมือด้านหลัง ที่เห็นชัดว่าติดเป็นก้นหอย แต่ตรงกลางก้นหอย สูงขึ้นเล็กน้อย ครูมนัส โอภากุล เรียกว่า "เนินเรียบ" พลิกดูขอบข้าง หลักการดูอยู่ที่ เว้าตรงกลาง เกิดจากธรรมชาติเนื้อเก่าที่ยุบตัว

องค์ประกอบเหล่านี้ ล้วนเป็น "ตัวช่วย" ชี้ขาดได้ พระผงสุพรรณแท้ เป็นเช่นนี้เอง.

Cr. พลายชุมพล
อ่านข่าวต่อได้ที่: https://www.thairath.co.th/content/1250161